บริการสืบค้น

Custom Search
เป็นการพบร่องรอยทางโบราณคดี ยุคสมัยศิลปะทวารวดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งความจริงสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่นได้จัดเป็นโบราณสถานที่สำคัญของขอนแก่นไว้นานแล้วแต่เพิ่งจะขุดค้นพบเป็นบางส่วนไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2525 พบว่าใต้ดินลึกลงไปจากบริเวณโนนเมืองเป็นร่องรอยถิ่นฐานของสังคมประวัติศาสตร์สมัยหนึ่งในอดีต
        เมืองโบราณสมัยทวารวดีแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า โนนเมือง เขตบ้านนาโพธิ์ อำเภอชุมแพ ห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 80 กิโลเมตร เดิมทีชาวบ้านเล่าลือสืบต่อกันมาว่าบริเวณเนินดินกว้างที่เรียกว่าโนนเมืองนั้นเป็นเมืองเก่าเมืองโบราณจากการสำรวจของสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่น พบในเสมาหินทรายศิลปะทวารวดี 3 ใบ ตั้งใกล้เคียงและบนผิวพื้นดินทั่วไปของเนินพบเศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มีทั้งชนิดเขียนสีแดง ชนิดลายขูดขีด และลายเชือกทาบ
        ลักษณะของเนินเป็นเนินดินรูปไข่ พื้นที่ประมาณ 170 ไร่ มีคูเมือง 2 ชั้น ระยะห่างกันประมาณ 200 เมตร


        การขุดค้นของสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่น โดยเปิดหลุมขุด 2 หลุมขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร ได้พบว่าตรงความลึกประมาณ 270 เซนติเมตร เป็นโครงกระดูกมนุษย์ที่มีพิธีฝังศพตามประเพณีโบราณ ที่มีธรรมเนียมการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปพร้อมกับศพ เช่น หม้อและภาชนะดินเผาเขียนสีและลายขูดขีด ลายเชือกทาบ กำไลสำริด กำไลกระดูกสัตว์เช่น กระดูกหมู กระดูกควาย เขากวาง และกระดองเต่าใกล้กับโครงกระดูกด้วย สำหรับหลุมแรกพบโครงกระดูกจำนวน 5 โครงและหลุมที่ 2 จำนวน 2 โครง  อย่างไรก็ดี ขณะนี้เพียงสันนิษฐานว่าโครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดค้นพบน่าจะเป็นคนในยุคสมัยทวารวดีจนกว่าจะมีการพิสูจน์ วิเคราะห์ตามหลักวิชาการที่ถูกต้องด้านโบราณคดีต่อไปในภายหลัง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น